การเข้าถึงบริการทางการเงินถือเป็นสิทธิพื้นฐานของพลเมืองทุกคน แต่ในความเป็นจริง กลุ่มคนตาบอดยังคงเผชิญอุปสรรคมากมายในการทำธุรกรรมกับธนาคาร ซึ่งเป็นปัญหาที่ดำรงอยู่มานานโดยไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง อุปสรรคเหล่านี้ส่วนใหญ่มักเกิดจากทัศนคติ ความไม่เข้าใจ หรือการขาดระบบรองรับที่เหมาะสม ทั้งที่ในทางกฎหมาย คนตาบอดก็มีสถานะความเป็นบุคคลและมีความสามารถทางนิติกรรมไม่ต่างจากคนทั่วไป
บทความนี้ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อกล่าวหาองค์กรใดเป็นพิเศษ หากแต่ต้องการชี้ให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคม พร้อมทั้งเสนอแนวทางที่สามารถนำไปปรับปรุงให้เกิดความเท่าเทียมและเข้าถึงสิทธิของประชาชนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง
องค์ประกอบของการทำธุรกรรม : คนตาบอดเข้าเงื่อนไขหรือไม่
เพื่อพิจารณาว่าคนตาบอดสามารถทำธุรกรรมกับธนาคารได้หรือไม่ จำเป็นต้องพิจารณาตามองค์ประกอบของนิติกรรม ซึ่งประกอบด้วย
- บุคคล
คนตาบอดเป็นมนุษย์ มีสภาพบุคคลตามกฎหมายตั้งแต่เกิดและรอดเป็นทารก ซึ่งหมายความว่าเขามีสิทธิเสมอกับบุคคลทั่วไป
- ความสามารถ
เว้นแต่จะเป็นผู้เยาว์ หรือเป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถตามคำสั่งศาล คนตาบอดถือว่ามีความสามารถทางนิติกรรม โดยกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 32 ระบุว่า แม้จะมี “กายพิการ” แต่หากศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ก็ถือว่ายังมีความสามารถโดยสมบูรณ์
- เจตนา
การทำธุรกรรมจะมีผลผูกพันได้ก็ต่อเมื่อมีเจตนา ซึ่งในกรณีของคนตาบอด เจตนาในการทำธุรกรรมก็ชัดเจนเช่นเดียวกับคนทั่วไป
- วัตถุประสงค์
คนตาบอดจำนวนไม่น้อยประกอบอาชีพ มีรายได้ และจำเป็นต้องเปิดบัญชีธนาคารเพื่อรับเงินเดือนหรือจัดการทางการเงินอื่นๆ
- แบบ
แบบหรือรูปแบบของธุรกรรม เช่น แบบฟอร์ม ลายเซ็น หรือระบบดิจิทัล ถือเป็นขั้นตอนจำเป็น แต่ไม่ได้เป็นข้อจำกัดของคนตาบอด หากมีวิธีการอื่นให้สามารถดำเนินการแทนได้
สรุป คนตาบอดมีคุณสมบัติเข้าองค์ประกอบของนิติกรรมโดยครบถ้วน และจึงมีสิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงินตามกฎหมายทุกประการ
อุปสรรคในทางปฏิบัติ : ความเป็นจริงที่คนตาบอดต้องเผชิญ
แม้ในทางกฎหมายจะรับรองสิทธิไว้อย่างชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติ คนตาบอดยังคงประสบปัญหาหลายประการ เช่น
- ธนาคารบางแห่งปฏิเสธให้บริการอย่างเด็ดขาด
- บางแห่งอนุญาตให้ทำธุรกรรมได้ แต่ต้องมีพยานร่วมทุกครั้ง ไม่ว่าจะลงลายมือชื่อหรือลายนิ้วมือ
- บางครั้งเจ้าหน้าที่อ้างว่าต้องสอบถามสำนักงานใหญ่ก่อน จึงทำให้ขั้นตอนล่าช้าและซับซ้อน
- การใช้แอปพลิเคชันบนมือถือของธนาคารบางแห่งไม่สามารถเข้าถึงได้ เช่น ใช้โปรแกรมอ่านออกเสียงไม่ได้ หรือระบบสแกนใบหน้าล้มเหลว
ปัญหาเหล่านี้ล้วนแสดงถึงความไม่เท่าเทียม ในการให้บริการที่ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน
แนวทางในการแก้ไขปัญหา
เพื่อให้คนตาบอดสามารถเข้าถึงบริการธนาคารได้อย่างแท้จริง ควรดำเนินการในแนวทางดังต่อไปนี้
- สร้างความเข้าใจและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ธนาคาร
- ปลูกฝังทัศนคติที่ถูกต้อง ไม่เลือกปฏิบัติ
- สร้างแนวปฏิบัติเดียวกันทุกสาขา โดยยึดตามกฎหมายเป็นหลัก
- พัฒนาระบบที่รองรับการเข้าถึง
- เอกสาร คำชี้แจง และสัญญาควรมีในรูปแบบที่คนตาบอดเข้าถึงได้ เช่นข้อความในลักษณะฟอนต์บนแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ เอกสารรูปแบบเสียงหรืออักษรเบรลล์
- ปรับปรุงเว็บไซต์และแอปพลิเคชันให้ทุกเมนูรองรับการเข้าถึงของโปรแกรมอ่านหน้าจอ
- ออกแบบระบบยืนยันตัวตนที่ไม่ต้องพึ่งพาการมองเห็น
- บทบาทของคนตาบอด
- อธิบายเจตนารมณ์อย่างใจเย็น
- หากไม่ได้รับความเป็นธรรม ควรใช้ช่องทางร้องเรียนหรือขอความช่วยเหลือจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน หรือกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการหรือสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยหรือช่องทางอื่นใดที่นึกออก
บทสรุป: การยกระดับจากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ
แม้ว่าในทางทฤษฎี คนตาบอดจะมีสิทธิในการทำธุรกรรมกับธนาคารอย่างครบถ้วนตามกฎหมาย แต่หากระบบและทัศนคติของผู้ให้บริการยังไม่พร้อมหรือไม่เข้าใจ สิทธินั้นก็จะเป็นเพียง "ทฤษฎีบนหน้ากระดาษ" ที่ไม่มีวันเป็นจริง การแก้ไขต้องเริ่มจากการสร้างความเข้าใจ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคนเท่าเทียมกัน
ผู้อ่านสามารถสนับสนุนเว็บไซต์ โดยการอุดหนุนนิยายบนเว็บไซต์ เขียนกันดอทคอม เว็บไซต์อ่านนิยายที่คนตาบอดเป็นเจ้าของ และอยากให้สังคมการอ่านเป็นของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าตาดีหรือตาบอด
แสดงความคิดเห็น