แม้ในปัจจุบันจะมีการจ้างงานคนพิการตามมาตรามากขึ้นก็จริง แต่ทั้งนี้ก็เห็นหลายๆบริษัทเช่นกันเลือกที่จะไม่จ้างงานคนพิการที่ผมจะเรียกมันว่าเป็นการจ้างแรงงาน ทั้งนี้ผมจะขอพูดถึงอยู่ 2 มาตราด้วยกันคือ
มาตรา 33 วางหลักว่า “เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐรับคนพิการเข้าทำงานตาม ลักษณะของงานในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการหรือหน่วย งานของรัฐ ทั้งนี้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงกำหนดจำนวนที่ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐจะต้องรับคนพิการเข้าทำงาน”.
มาตรา 35 วางหลักว่า “ในกรณีที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการตามมาตรา 33 ไม่สามารถรับคนพิการเข้าทำงานได้ครบตามอัตราส่วนที่กำหนด ให้ดำเนินการโดยการให้สัมปทานหรือจัดให้มีการให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด”
ซึ่งในมาตรา 33 นั้น เมื่อมีการจ้างไปแล้วก็ถือว่าคนพิการได้กลายเป็นแรงงาน เพราะในตัวสัญญาการจ้างที่มาตรา 33 ได้มีเจตนานั้นคือการจ้างให้คนพิการเข้าสู่ตลาดแรงงาน ทั้งนี้ก็จะกลายเป็นสัญญาจ้างแรงงานทันทีเมื่อมีการลงรายมือชื่อทำสัญญากับนายจ้างแล้ว
แล้วมาตรา 35 คือการจ้างงานประเภทใด?
โดยหลักแล้วนั้นมาตรา 35 ได้ออกมายกเว้นให้นายจ้างที่ไม่ประสงค์จะจ้างคนพิการตามมาตรา 33 ฉะนั้นเมื่อไม่มีการจ้างตามมาตรา 33 แล้วนั้น สัญญาแรงงานก็ไม่ถูกส่งต่อให้สำเหร็จ เนื่องเพราะไม่มีการจ้างเกิดขึ้น
อย่างไรก็ดีเรามักจะได้ยินคำว่า “จ้างเหมาบริการ” ซึ่งบริษัทต่างๆได้ทำกับคนพิการ ซึ่งทั้งนี้เป็นเจตนาที่วางไว้ในมาตรา 35 เช่นกัน
ในทางกฎหมายแล้ว คำว่า “สัญญาจ้างเหมาบริการ” ไม่ได้มีไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจนซึ่งต่างจากสัญญาจ้างแรงงานและสัญญาจ้างทำของ ซึ่งมีการให้ความหมายไว้ ดังนั้นการจ้างเหมาบริการจึงเน้นตีความตามลักษณะของสัญญามักเป็นบริการต่อเนื่องหรือไม่จำเป็นต้องมีผลเป็น “ของ” (เช่น รักษาความปลอดภัย ทำความสะอาด บริการ IT support) เป็นต้น คนพิการหลายๆคนที่ถูกจ้างจากบริษัทก็มักได้สัญญาดังกล่าวนี้
คำถามต่อมาคือ หากผู้จ้างเข้ามาควบคุมงานอย่างใกล้ชิดจะถือว่ามันจะกลายเป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่?
โดยทั้งนี้จะขอยกคำพิพากษามาเพื่อพิจารณาคือ
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 531/2557
ข้อเท็จจริง: นาย ก. ถูกส่วนราชการว่าจ้างตามสัญญาจ้างเหมาบริการ แต่ลักษณะการทำงานมีการควบคุมและสั่งการจากส่วนราชการ
ข้อวินิจฉัย: แม้จะระบุในสัญญาว่าเป็น "จ้างเหมาบริการ" แต่ลักษณะการทำงานจริงแสดงถึงความสัมพันธ์แบบนายจ้าง-ลูกจ้าง ศาลจึงวินิจฉัยว่าสัญญาดังกล่าวเป็น "สัญญาจ้างแรงงาน" และส่วนราชการมีหน้าที่ต้องขึ้นทะเบียนลูกจ้างเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายประกันสังคม
ทั้งนี้การจ้างตามมาตรา 35 หากมีการควบคุมงานอย่างใกล้ชิดควรจะต้องตีความตามนี้หรือไม่ เพื่อความเป็นประโยชน์และถูกวัถถุประสงค์ในการจ้างงาน
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันพบมีการจ้างเหมาบริการตามมาตรา 35 อยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นในส่วนขององค์กรภาครัฐ องค์กรคนพิการเองหรือในบริษัทเอกชน ซึ่งมีลักษณะการทำงานแบบ "แรงงาน" อย่างชัดเจน แต่กลับไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงาน เช่นไม่มีวันหยุด ไม่มีประกันสังคม และมีการต่อสัญญาเป็นรายปี ซึ่งมองไม่เห็นถึงความมั่นคงในชีวิตแต่อย่างใด มิหนำซ้ำบริษัทผู้ว่าจ้างยังใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อสามารถจ่ายเงินเดือนให้กับคนพิการช้าได้ เช่นจ่ายเมื่อคนพิการทำงานล่วงเลยไปแล้ว 6 เดือน จ่ายเป็นไตรมาส หรืออาจจ่ายตามเวลาที่ผู้ว่าจ้างสะดวกจ่าย
แม้มองในแง่ดีก็คือได้ดีกว่าไม่ได้ แต่อย่าลืมว่าคนพิการเองก็มีค่าใช้จ่ายรายเดือนที่ต้องรับผิดชอบ ดังนั้นการจ่ายเงินในลักษณะนี้จึงอาจไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนพิการแต่อย่างใด
อ้างอิง: lombonlawoffice.com doe.go.th (pdf)
ผู้อ่านสามารถสนับสนุนเว็บไซต์ โดยการอุดหนุนนิยายบนเว็บไซต์ เขียนกันดอทคอม เว็บไซต์อ่านนิยายที่คนตาบอดเป็นเจ้าของ และอยากให้สังคมการอ่านเป็นของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าตาดีหรือตาบอด
แสดงความคิดเห็น