เนื่องจากเราได้ผ่านวันแรงงานซึ่งเป็นวันสำคัญของชาวแรงงานไปแล้ว ดังนั้นในบทความนี้เอง กระผมใคร่จะได้ขอพูดถึงการจ้างงานคนพิการซึ่งผมเคยวางแผนไว้นานแล้วว่าจะเขียนซักหน่อย
ก่อนที่จะมีการวิเคราะห์ว่ามันเป็นเพราะเหตุใด ผมก็อยากจะยกกฎหมายเพื่อให้เกิดความเข้าใจในเจตนาที่จะสื่อเสียก่อน
พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 แก้ไขล่าสุด พ.ศ. 2556 ได้มีมาตราที่เกี่ยวกับการจ้างงานคนพิการดังที่จะกล่าวโดยสังเขปดังนี้คือ
- มาตรา 33 วางหลักว่า “เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐรับคนพิการเข้าทำงานตาม ลักษณะของงานในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการหรือหน่วย งานของรัฐ ทั้งนี้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงกำหนดจำนวนที่ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐจะต้องรับคนพิการเข้าทำงาน”.
- มาตรา 34 วางหลักว่า “ในกรณีที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการตามมาตรา ๓๓ ไม่สามารถรับคนพิการเข้าทำงานได้ครบตามอัตราส่วนที่กำหนด ให้ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตามจำนวนที่กำหนดโดยคณะกรรมการ”
- มาตรา 35 วางหลักว่า “ในกรณีที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการตามมาตรา 33 ไม่สามารถรับคนพิการเข้าทำงานได้ครบตามอัตราส่วนที่กำหนด ให้ดำเนินการโดยการให้สัมปทานหรือจัดให้มีการให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด”
จะสรุปให้เข้าใจสั้นๆคือ
- ผู้มีสิทธิหน้าที่ตามกฎหมาย คือ นายจ้าง อันได้แก่รัฐและเอกชน
- ตามข้อบังคับ กฎคือต้องจ้างคนพิการเข้าทำงานในสถานประกอบการ ทั้งนี้ตามอัตตราส่วน 100 คน จ้างคนพิการ 1 คน
- ทางเลือกหากไม่ประสงค์จ้างงานตามมาตรา 33 สามารถทำได้คือ จ่ายเงินเข้ากองทุนตามมาตรา 34 และ ปฏิบัติตามมาตรา 35
ทั้งนี้ที่ผ่านมา การจ้างงานของคนพิการก็ได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ดีการจ้างงานก็ยังมีการเปิดช่องให้มีข้ออ้างได้อยู่ ยกตัวอย่างเช่น จ้างงานคนพิการตามกฎหมายแล้วแต่ก็ไม่ได้มองว่าจ้างงานคนพิการประเพทใด จ้างแต่ไม่เข้าใจ จ้างเพื่อไม่อยากจ่ายเงินเข้ากองทุน จ้างตามกฎหมาย เป็นต้น
จากประเด็นนี้เอง คนตาบอดก็ถือว่าเป็นบุคคลคนหนึ่ง เมื่อเติบโตขึ้นก็ย่อมต้องมีการหางานในการดำรงค์ชีวิต เพื่อตนเองและครอบครัว รวมถึงต้องการใช้ชีวิตอย่างอิสระเช่นคนทั่วไป แต่ทั้งนี้ชั่งเป็นเรื่องหน้าเศร้าอยู่บ้างที่กระผมในฐานะผู้เขียนได้เคยมีการหางานตามที่ต่างๆ ในขณะนั้นกลับไม่ตรงตามคุณสมบัติที่ผู้ว่าจ้างต้องการ
เมื่อได้นั่งวิเคราะห์ดูแล้วก็มีอยู่ 2 ประเด็นใหญ่ๆด้วยกันคือ
- ประเด็นที่หนึ่ง ทัศนคติความเข้าใจ คือ ตัวนายจ้างเองไม่รู้ไม่เข้าใจว่าจะจ้างคนตาบอดไปทำอะไรจ้างไปแล้วจะทำอะไรให้เขาได้บ้าง ตรงนี้ก็ต้องมาดูว่านายจ้างหรือฝ่ายบุคคลซึ่งจะต้องจ้างนั้นมีทัศนคติที่ดีหรือไม่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวหากเป็นเช่นที่ว่าจริงคนตาบอดก็คงมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีนัก เพราะคำว่ากำแพงทางทัศนคติซึ่งต้องค่อยๆแก้ไขกันต่อไป
- ประเด็นที่สองคือ ทางผู้ว่าจ้างต้องการจะรับแหละ แต่ไม่ทราบว่าจะใช้งานอย่างไร จะปฏิบัติตัวอย่างไรต่อคนตาบอด ซึ่งส่วนที่จะรับนั้นการทำงานในปัจจุบันนี้เราใช้คอม ใช้เทคโนโลยีกันเสียส่วนใหญ่ในการทำงาน ประเด็นนี้อย่าว่าแต่นายจ้างเลย แม้คนทั่วไปส่วนมากก็ยังไม่ทราบว่าคนตาบอดใช้คอมใช้มือถือกันอย่างไร ทั้งนี้ก็ถือว่าเป็นปัญหาอยู่ แต่ผมขอยืนยันว่าคนตาบอดหลายคนใช้คอม ใช้มือถือได้ทั่วๆ ไปเลย สามารถเป็นแรงงานในตลาดแรงงานและสามารถทำงานให้นายจ้างได้แน่นอนหากว่าท่านเปิดใจ
กล่าวโดยสรุป
คนตาบอดไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน ไม่ควรใช้ช่องทางกฎหมายกันแบบง่ายๆ โดยอ้างว่าจ้างแล้ว หรือหากเป็นไปได้นั้นควรจะมีการจัดให้มีการอบรมแก่กลุ่มนายจ้าง ให้ความรู้สร้างความเข้าใจ ควรมีการออกกฎหรือระเบียบกันให้ดีแน่ชัดและเป็นธรรมเพื่อให้คนตาบอดหรือคนที่ยังโดนเมิน อยู่ได้มีสิทธิในการใช้ชีวิตและการทำงานอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมต่อไป
ผู้อ่านสามารถสนับสนุนเว็บไซต์ โดยการอุดหนุนนิยายบนเว็บไซต์ เขียนกันดอทคอม เว็บไซต์อ่านนิยายที่คนตาบอดเป็นเจ้าของ และอยากให้สังคมการอ่านเป็นของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าตาดีหรือตาบอด
แสดงความคิดเห็น