คุณอยู่ที่

“ธุรกิจเพื่อสังคม” ไม่ใช่ “ธุรกิจสายบุญ หรือการหากินกับคนพิการ” สิ่งที่คนในสังคมควรทำความเข้าใจให้ตรงกัน

ปรับขนาดตัวอักษร

-A A +A
รูปภาพของ suriyan
เขียนโดย suriyan เมื่อ พฤหัสฯ, 10/06/2022 - 07:49

หลายคนมักมองธุรกิจเพื่อสังคม หรือธุรกิจเพื่อคนพิการเป็น "การทำบุญ" ซึ่งในความจริงแล้ว ถือว่าเป็นสิ่งที่เข้าใจกันผิดไปไกลพอสมควร

คือถ้าช่วยเหลือเพราะไม่มีผลตอบแทนที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม จะมองอย่างงั้นก็พอทำเนา

แต่ถ้าเป็นประเภทที่ต่างคนต่างได้ประโยชน์ เช่นช่วยแล้วได้รับค่าจ้าง ช่วยแล้วมีเงินเดือนจากภาครัฐรองรับ ช่วยแล้วมีค่าตอบแทนจากแหล่งอื่นๆ ว่าง่ายๆ ก็คือทำแล้วได้ผลประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย ผมคิดว่า อยากให้มองเป็นธุรกิจเพื่อสังคม หรือกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) กันมากกว่า ไม่ได้เป็นเรื่องบาปบุญคุณโทษอะไรทั้งนั้น

คนบ้านเราไม่รู้ทำไม เมื่อพูดถึงคนพิการ ชอบเอาเรื่องมายาคติมาจับ ทำให้มองเป็นเรื่องบุญบาป ทั้งที่ความเป็นจริง เรื่องความพิการ มันก็แค่ร่างกายไม่ครบสมบูรณ์ แต่ในแง่ของการใช้ชีวิต คนพิการก็ไม่ต่างจากคนอื่น

เมื่อเห็นใครทำธุรกิจที่เกี่ยวกับคนพิการ บางคนมองในแง่ลบเลยว่า “พวกหากินกับคนพิการ หากินกับคนแก่” ทั้งที่ในความจริงแล้ว คนพิการเองก็ยินดีที่จะจ่าย คนสูงอายุเองก็ยอมจ่าย ญาติๆ ของพวกเขาเองก็ยอมจ่าย ขอแค่ทำให้การใช้ชีวิต หรือเรื่องต่างๆ ในแต่ละวันมันง่ายขึ้น

คือถ้าไม่ทำ ไม่ช่วย แล้วอยู่เฉยๆ ไปเลย ยังดีกว่าการมาวิจารณ์แย่ๆ ลดทอนกำลังใจคนที่เขาทำอะไรแบบนี้ เพราะคนที่เขาทำ ถ้าทำแล้วเจออะไรแบบนี้ หลายคนก็ไม่แคร์ ส่วนอีกหลายคนก็เลิกทำไปเลยก็มี ส่วนคนที่เดือดร้อนหรือใช้ชีวิตยากขึ้นก็คือเหล่าผู้สูงอายุและคนพิการ ส่วนคนที่วิจารณ์เสียๆ หายๆ ก็ลอยตัวไป เพราะไม่มีส่วนได้ส่วนเสียจากตรงนี้

สังคมไทยควรจะมองธุรกิจประเภทนี้ให้ชิน เพราะต่อไปนี้ การที่มีอาชีพรับคนสูงอายุพาไปหาหมอ การที่มีอาชีพพาคนสูงอายุไปเที่ยว หรือแม้แต่การพาคนพิการไปเล่น ไปทำธุระ มันจะมีให้เห็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องด้วยบ้านเรากำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้นี้

ถามว่าแล้วทำไมคนเหล่านี้ถึงไม่ปล่อยให้ญาติๆ ดูแล นั่นเพราะบางคนก็ไม่มีลูกมีหลาน ญาติบางคนก็ทำงาน ไม่ว่างพอจะมาดูแลประจำ หรือแม้แต่คนพิการบางส่วนเองก็เริ่มมีรายได้ เริ่มที่จะซื้อความสะดวกสบายให้กับตัวเองในบางเวลา ตามกำลังเงินที่มี

จริงๆ การทำงานลักษณะนี้มีมานานแล้ว เพียงแค่เราไม่สังเกต ยกตัวอย่างก็คนขับรถสาธารณะบางคัน ที่คอยรับส่งคนพิการไปทำธุระต่างๆ ซึ่งการรับส่งคนพิการ มันไม่ใช่แค่ทำหน้าที่ไปรับไปส่งแล้วจบ แต่มันคือการพาเดิน การคอยอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการด้วย ซึ่งรถสาธารณะบางคัน เช่นสามล้อ แท็คซี่ เขาทำกันมานานแล้ว แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงกัน เพราะเขาไม่ได้ออกตัวว่ามาทำธุรกิจแบบนี้เต็มตัว บางคนช่วยเหลือกันจนกลายเป็นประดุจญาติ หรือเพื่อนฝูง พี่น้องเลยก็ยังมี

แต่การช่วยเหลือที่ว่า ก็ไม่ได้ช่วยเปล่าๆ เพราะเขาก็ต้องมีบวกค่าเสียเวลา ค่าเสียโอกาสที่จะไม่ได้ไปรับลูกค้าท่านอื่น เพราะจำเป็นต้องคอยดูแลเราจนกว่าจะเสร็จธุระและพากลับไปส่ง ซึ่งคนพิการ หรือผู้สูงอายุส่วนมากก็ยินดีที่จะจ่ายเพิ่มในตรงนั้นอยู่แล้ว

ดังนั้นธุรกิจเพื่อสังคม จึงอยู่ในลักษณะที่ผู้ว่าจ้างได้ความสะดวกในชีวิตเพิ่มขึ้น ส่วนผู้ถูกว่าจ้าง ก็ได้รับค่าตอบแทนกลับมา ทั้งเป็น “ผู้ให้” และ “ผู้รับ” ในเวลาเดียวกัน

ธุรกิจเพื่อสังคม ไม่ได้มีแค่เรื่องของการดำเนินการเกี่ยวกับผู้สูงอายุหรือคนพิการ แต่มันมีหลายภาคส่วนมาก ไม่ว่าจะเป็นในเชิงการช่วยเหลือชุมชน การอนุรักษ์ธรรมชาติ การส่งเสริมสิ่งที่เป็นประโยชน์กับสังคมโดยรวมต่างๆ โดยที่คนดำเนินธุรกิจเองก็มีกำไร เลี้ยงตัวเองได้ (ตัวเว็บ เขียนกันดอทคอม เองก็มีลักษณะเป็นกิจการเพื่อสังคม หรือธุรกิจเพื่อสังคมเหมือนกัน คือเอารายได้จากเขียนกัน มาทำ Blind living ด้วย เพียงแค่เราไม่ได้มีกำไรที่ชัดเจนมากพอ และเราไม่ได้ให้อะไรกับสังคมที่ชัดเจน เราเป็นกึ่งๆ เว็บให้ข้อมูล และความคิดเห็นมากกว่า)

อ่านมาถึงตรงนี้ ใครหลายๆ คนก็คงจะพอเห็นภาพกันแล้ว ว่าธุรกิจเพื่อสังคม มันไม่ได้เป็นการทำบุญ และคนที่เขามาทำก็ไม่ใช่ว่าหากินกับคนพิการหรือคนสูงอายุแต่อย่างใด แต่มันเสมือนการประกอบอาชีพอย่างสุจริต พร้อมกับช่วยเหลือคนอื่นๆ ในตัว ได้ทั้งเงิน อิ่มทั้งใจ ได้เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ มีความยินดีทั้งผู้บริการ และผู้รับบริการ


ผู้อ่านสามารถสนับสนุนเว็บไซต์ โดยการอุดหนุนนิยายบนเว็บไซต์ เขียนกันดอทคอม เว็บไซต์อ่านนิยายที่คนตาบอดเป็นเจ้าของ และอยากให้สังคมการอ่านเป็นของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าตาดีหรือตาบอด

ให้ดาวบทความนี้: 
Average: 3.2 (5 votes)

แสดงความคิดเห็น