คุณอยู่ที่

ข้อควรรู้ในการต่ออายุบัตรคนพิการ เพื่อใช้ในการทำงานตามมาตรา 35 ฯลฯ

ปรับขนาดตัวอักษร

-A A +A
รูปภาพของ suriyan
เขียนโดย suriyan เมื่อ อังคาร, 12/07/2021 - 18:04

สิ่งที่จะระบุได้ว่าตัวเราเองเป็นคนพิการหรือไม่ และเป็นสิ่งที่คนพิการทุกคนต้องมีนั่นก็คือ “บัตรคนพิการ” ซึ่งถึงแม้ว่าในชีวิตประจำวันของเราจะไม่ค่อยได้ใช้งานบัตรนี้สักเท่าไหร่ แต่เมื่อใดก็ตามที่เราต้องไปติดต่อประสานงานกับองค์กรภาครัฐบางที่ หรือเวลาที่เราต้องการติดต่อเพื่อขอรับสวัสดิการ บัตรคนพิการจะมีความจำเป็นขึ้นมาทันที ยิ่งถ้าใครที่กำลังทำงาน หรือกำลังจะมีโอกาสได้ทำงานตามมาตรา 35 บัตรคนพิการ จะมีความจำเป็นในอันดับต้นๆ เลยก็ว่าได้

ในช่วงเวลายื่นสัญญาหรือต่อสัญญาในการทำงาน สิ่งที่เราควรจะเช็คดูให้แน่ใจก็คือวันหมดอายุของบัตรประชาชนและบัตรคนพิการ เพราะหากบัตรดังกล่าวหมดอายุ ก็จะทำให้เราเสียสิทธิ์ในการทำงานได้อย่างไม่รู้ตัว ซึ่งบางบริษัทเขาจะเน้นย้ำมาเลยว่า ในการต่อสัญญาแต่ละครั้ง บัตรเหล่านี้จะต้องหมดอายุไม่เกินวันเดือนปีที่เท่าไหร่

ในอดีต เราคงแทบไม่ต้องมาใส่ใจกับเรื่องวันหมดอายุบัตร เพราะเราสามารถไปต่ออายุบัตรคนพิการของเราได้ทุกเมื่อ หรือแม้แต่ครั้งใดที่เราทำบัตรชำรุดหรือสูญหาย เวลาเราไปทำบัตรใหม่ วันหมดอายุก็จะต่อออกไปให้เราโดยอัตโนมัติ

ทว่าระบบใหม่ที่ออกมาเมื่อไม่นานนี้ เราจะไม่สามารถต่ออายุบัตรคนพิการแบบนั้นได้อีกต่อไปแล้ว ถึงแม้ว่าเราจะทำบัตรชำรุดเสียหาย หรือไปแจ้งทำบัตรหาย เมื่อออกบัตรใหม่มา วันหมดอายุบัตรของเราก็ยังจะมีกำหนดระยะเวลาเท่าบัตรเดิม สิ่งที่เปลี่ยนแปลงมีแค่วันออกบัตรเท่านั้น ซึ่งระบบใหม่นี้ คงทำให้พนักงานจ้างตามมาตรา 35 หลายคน หรือบริษัทที่เกี่ยวข้องหลายบริษัทเกิดปัญหากันไม่มากก็น้อย

จากการสอบถาม เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่า การที่จะต่ออายุบัตรคนพิการได้นั้น สามารถทำได้เพียง 2 กรณีเท่านั้น นั่นก็คือ

  • ผู้พิการจะสามารถต่ออายุบัตรคนพิการได้ เมื่อบัตรของผู้พิการจะหมดอายุก่อน 30 วัน เช่นหากบัตรผู้พิการจะหมดอายุในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ผู้พิการจะเริ่มมาขอต่ออายุบัตรได้ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม จะมาขอต่ออายุบัตรก่อนหน้านั้นไม่ได้ ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดๆ ก็ตาม
  • ผู้พิการจะสามารถต่ออายุบัตรคนพิการได้ เมื่อบัตรของผู้พิการหมดอายุไปแล้ว หรือตรงตามเงื่อนไขตามข้อแรก

โดยในการต่ออายุบัตรคนพิการใหม่ทุกครั้ง บัตรคนพิการจะมีอายุการใช้งานนานถึง 8 ปี อธิบายง่ายๆ ก็คือ เราจะได้ต่ออายุคนพิการใหม่ทุกๆ 8 ปีนั่นเอง ถึงแม้ในระหว่างนั้นเราจะทำบัตรคนพิการชำรุด หรือทำบัตรหาย รวมถึงการแก้ไขข้อมูลบัตร อาทิแก้ไขชื่อ เปลี่ยนแปลงนามสกุล แต่วันหมดอายุบัตรก็จะไม่เปลี่ยนแปลง เราจะได้แค่ตัวบัตรใหม่ และข้อมูลที่เราแก้ไขไป แต่วันหมดอายุบัตรของเราจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ข้อมูลจะอัปเดตแค่วันที่ออกบัตรใหม่ และข้อมูลส่วนตัวของเราที่ยื่นแก้ไขไปเท่านั้น

สำหรับใครหลายคนที่มีปัญหาในขั้นตอนการสมัครงาน หรือการต่อสัญญางาน ซึ่งเกิดจากปัญหาวันหมดอายุบัตรคนพิการไปคาบเกี่ยวเข้ากับช่วงเวลาต่อสัญญางาน ให้เราเร่งชี้แจงไปทางบริษัท หรือแจ้งไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องให้รับทราบ เพื่อที่จะมาหาทางออกร่วมกัน ว่าทางบริษัทและผู้ที่เกี่ยวข้องควรจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง ที่จะไม่ทำให้คนพิการเสียสิทธิ์การทำงานในปีนั้นๆ ไปเฉยๆ เพราะการตกงาน 1 ปีเต็ม ไม่ว่าใครก็คงไม่ชอบกันทั้งนั้น ยิ่งหากความผิดพลาดนี้ไม่ได้เกิดจากผู้ทำงานเอง เรื่องแบบนี้ยิ่งไม่ควรเกิดขึ้น

จากการพูดคุย เจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดศรีสะเกษ (พมจ.) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ปัญหาแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว อีกทั้งคนพิการยังเคยตกงานด้วยปัญหานี้จริงๆ ทำให้คนพิการที่เกิดปัญหาดังกล่าวตกงานไปเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นเลย เพราะปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของผู้พิการ และผู้พิการไม่ควรตกงานด้วยปัญหาดังกล่าว

ก็ได้แต่หวังว่าผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบริษัทต่างๆ ที่มีการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 35 จะมีทางออกให้กับปัญหานี้ให้ชัดเจน จะได้ไม่ปล่อยให้คนพิการที่เกิดปัญหา ตกงานไปโดยที่ตัวเองก็ไม่ได้ทำอะไรผิด


ผู้อ่านสามารถสนับสนุนเว็บไซต์ โดยการอุดหนุนนิยายบนเว็บไซต์ เขียนกันดอทคอม เว็บไซต์อ่านนิยายที่คนตาบอดเป็นเจ้าของ และอยากให้สังคมการอ่านเป็นของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าตาดีหรือตาบอด

ให้ดาวบทความนี้: 
Average: 3.6 (5 votes)

แสดงความคิดเห็น