คุณอยู่ที่

ประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์งานวรรณกรรม และการเข้าถึงของคนตาบอด ผ่านสนธิสัญญามาร์ราเคช (Marrakesh Treaty)

ปรับขนาดตัวอักษร

-A A +A
รูปภาพของ suriyan
เขียนโดย suriyan เมื่อ เสาร์, 10/30/2021 - 10:58

เนื่องจากช่วงนี้เห็นมีดราม่ากันเรื่องลิขสิทธิ์งานวรรณกรรม ที่นักเขียนหลายท่านเห็นว่าไม่เหมาะสม และทางสมาคมคนตาบอดซึ่งเป็นผู้ดูแลห้องสมุดคนตาบอดแห่งประเทศไทยมีแนวทางที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม อีกทั้งยังไม่มีการขออนุญาตจากนักเขียนก่อน ในการที่จะนำหนังสือใดๆ ไปทำเป็นหนังสือเสียง

เพราะเรื่องนี้ Blind living จึงขอเขียนบทความนี้ขึ้น เพื่อเสนอแนะ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น หรืออาจมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ก่อนอื่นทาง Blind living ต้องขอให้ท่านผู้อ่านทำใจให้เป็นกลางและเปิดกว้างก่อนอ่านด้วยนะครับ

  • ประเด็นที่นักเขียนร้องเรียนว่า ทางสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยนำผลงานไปทำเป็นหนังสือเสียงโดยไม่แจ้งและไม่ขออนุญาตจากนักเขียนก่อน

โดยกรณีนี้ ทางสมาคมอธิบายว่า เป็นการทำโดยมีกฎหมายรองรับ เพราะตัวกดหมายระบุไว้ว่าไม่จำเป็นต้องขอ ซึ่งก็สร้างความไม่พอใจให้กับนักเขียนจำนวนหนึ่ง เพราะนักเขียนถือว่า กว่าจะสร้างงานแต่ละงานขึ้นมาไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างน้อยๆ ก็น่าจะบอกกล่าวให้ทราบกันบ้าง

ในกรณีนี้ ทาง Blind living ค่อนข้างเห็นด้วยกับฝ่ายนักเขียน แต่ไม่ได้มองว่าสมาคมเป็นฝ่ายผิด เพราะทำลงไปโดยมีกฎหมายรองรับอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ซึ่งมีอำนาจที่จะทำได้อย่างถูกต้อง

แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าตัวกฎหมายจะมอบอำนาจเอาไว้แบบนั้น แต่ทางสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยก็ควรที่จะทำการแจ้งไปยังนักเขียน เพื่อให้นักเขียนรับทราบก่อน ทั้งนี้นอกจากจะเป็นเรื่องของมารยาทแล้ว ยังถือเป็นการสื่อสารที่ดี และเป็นการรับทราบร่วมกัน เผื่อไว้ในเหตุที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

การที่ทางสมาคมส่งเรื่องไปแจ้งนักเขียนก่อนนำผลงานมาทำเป็นหนังสือเสียงจะมีข้อดีหลายอย่างเช่น

  1. หากผลงานนั้นๆ มีหนังสือเสียงอยู่แล้ว ทางสมาคมคนตาบอดจะได้ไม่ต้องทำการผลิตซ้ำ เพราะหากผลิตซ้ำ ก็อาจเป็นการผิดกฎหมาย และต้องมาเสียเวลาไปอย่างสูญเปล่า เนื่องเพราะเมื่อผลิตออกมาแล้ว ก็จำต้องนำออกจากระบบอยู่ดี

  2. หากผลงานดังกล่าวยังไม่มีหนังสือเสียง ทางนักเขียนจะได้ทราบว่า ขณะนี้ผลงานของตนได้ถูกนำไปใช้ในวัตถุประสงค์ใดบ้าง และอาจจะไม่ต้องผลิตหนังสือขึ้นมาซ้ำซ้อนกับของทางสมาคม

  3. หากในอนาคตนักเขียนจัดทำหนังสือเสียงเป็นของตนเองขึ้นมาแล้ว นักเขียนจะได้ทราบว่า ควรส่งไปแจ้งให้ทางสมาคมนำผลงานใดๆ ที่มีหนังสือเสียงเป็นของตนเองแล้วออกจากระบบของสมาคมบ้าง

ซึ่งในกรณีดังกล่าว เนื่องจากทางสมาคมคนตาบอดไม่ได้แจ้งเตือนนักเขียนก่อนทำการผลิตหนังสือเสียง ทำให้เกิดหนังสือเสียงซ้ำซ้อนขึ้นมาหลายเรื่อง โดยที่ต่างฝ่ายเองก็ต่างไม่รู้ในเรื่องนี้ สมาคมเองก็ไม่รู้ว่าผลงานดังกล่าว นักเขียนได้จัดทำหนังสือเสียงขึ้นมาแล้ว ทางนักเขียนเองก็ไม่เคยรู้ว่า หนังสือของตนเองถูกทางสมาคมนำไปผลิตเป็นหนังสือเสียงแล้ว ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หากทางสมาคมทำการแจ้งไปที่นักเขียนก่อน

  • ประเด็นที่นักเขียนหลายคนอยากให้ขออนุญาตก่อนนำผลงานไปผลิตเป็นหนังสือเสียง โดยที่ตัวนักเขียนเองจะอนุญาตหรือไม่ก็ได้ และหากนักเขียนไม่เต็มใจมอบสิทธิ์ให้ ทางสมาคมก็ไม่อาจผลิตได้

ในประเด็นนี้ ทาง Blind living ไม่เห็นด้วยกับนักเขียน เนื่องเพราะหากผลงานนั้นๆ ไม่มีหนังสือเสียง หรือไม่มีช่องทางที่คนตาบอดสามารถเข้าถึงได้ มิหนำซ้ำนักเขียนยังไม่ยอมอนุญาตให้ทางสมาคมดำเนินการนำผลงานดังกล่าวไปทำเป็นหนังสือเสียง แล้วแบบนี้คนตาบอดจะเข้าถึงผลงานชิ้นนั้นได้อย่างไร นั่นถือเป็นการปิดกั้นการเข้าถึงสื่อสิ่งพิมพ์อย่างร้ายแรง และขัดต่อกฎหมาย เพราะผู้ออกกฎหมายอาจกลัวเกิดเหตุผลทำนองนี้ขึ้น ดังนั้นจึงออกกฎหมายเชิงบังคับแบบนี้ขึ้นมา ก็เพื่อป้องกันกรณีแบบนี้โดยเฉพาะ อีกทั้งตัวสนธิสัญญามาร์ราเคชยังบังคับใช้ในต่างประเทศแบบนี้เหมือนกัน ไม่ใช่เพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้น เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วเขาก็ทำเหมือนกันครับ

นักเขียนจะอ้างว่า ตนเป็นคนผลิตผลงานขึ้นมา ดังนั้นสิทธิ์ดังกล่าวก็ต้องเป็นไปตามประสงค์ของตนทั้งหมดแบบนั้นไม่ได้ แม้ว่านักเขียนจะเป็นคนสร้างงานวรรณกรรมชิ้นนั้นขึ้นมาก็จริง แต่เมื่อตัวนักเขียนได้เผยแพร่ออกสู่สาธารณะไปแล้ว สิทธิ์การเข้าถึงงานดังกล่าวถือว่าเป็นสิทธิ์ของทุกคน

ให้ยกตัวอย่างก็เช่น รถที่ใช้ขับขี่มี 2 ประเภท ได้แก่รถส่วนตัว และรถขนส่งสาธารณะ

หากนักเขียนซื้อรถมาใช้เองเป็นส่วนตัวหรือภายในบ้าน ไม่ว่าในรถจะรองรับคนพิการหรือไม่ อันนั้นเป็นสิทธิ์ของนักเขียน เพราะถือว่านักเขียนใช้เอง

แต่หากนักเขียนนำรถดังกล่าวออกไปใช้ในเชิงขนส่งสาธารณะ ตัวรถของนักเขียนจะต้องรองรับการใช้งานของคนพิการ และหากรถคันดังกล่าวไม่รองรับการใช้งาน เจ้าของรถจะต้องหามาตรการมารองรับ

งานเขียนก็เช่นกัน หากนักเขียนแต่งเอาไว้อ่านเองโดยไม่เผยแพร่สู่สาธารณะในช่องทางใดๆ ไม่ว่าคนตาบอดจะเข้าถึงหรือไม่ ในแง่นี้กฎหมายก็ไม่สามารถทำอะไรได้

แต่เมื่อใดก็ตามที่นักเขียนเผยแพร่ผลงานออกสู่สาธารณะ ทุกคนไม่ว่าพิการหรือไม่พิการจะต้องสามารถเข้าถึงและใช้งานได้จริง

ทางออกที่นักเขียนสามารถทำได้ คือ

  1. ทำให้ทุกคนไม่ว่าพิการหรือไม่ เข้าถึงผลงานที่เผยแพร่ออกไปแล้วได้ ไม่ว่าจะต้องจัดทำในรูปแบบใดๆ ก็ตามที่รองรับการใช้งานของคนพิการ อาทิการลงผลงานในช่องทางที่รองรับการอ่านของคนตาบอด หรือการผลิตผลงานออกมาในรูปแบบหนังสือเสียงเพื่อให้คนตาบอดซื้อฟังได้

  2. หากนักเขียนไม่สามารถทำให้ทุกคนเข้าถึงผลงานที่ตนเองเผยแพร่สู่สาธารณะไปได้แล้วนั้น นักเขียนจะต้องยินยอมให้องกรณ์ที่เกี่ยวข้อง (เช่นสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย) ทำหน้าที่จัดทำผลงานของนักเขียนเพื่อให้คนพิการหรือคนตาบอดเข้าถึงได้ โดยที่การเข้าถึงจะถูกจำกัดอยู่ที่คนตาบอดที่มีบัตรประจำตัวคนพิการเท่านั้น (เรียกง่ายๆ มันคือระบบปิด ที่เข้าใช้งานได้แค่คนตาบอดนั่นเอง)

ซึ่งตรงนี้ นักเขียนจะมาอ้างว่าทางสมาคมคนตาบอดทำให้ “สูญเสียผลประโยชน์ หรือรายได้” ไม่ได้

เพราะหากนักเขียนไม่จัดทำผลงานออกมาในรูปแบบที่คนตาบอดเข้าถึงได้ หรือนำผลงานไปลงในแพลตฟอร์มที่รองรับการเข้าถึงของคนตาบอด นั่นแสดงว่า ยังไงเสีย คนตาบอดก็ไม่มีทางอุดหนุน หรือเข้าถึงผลงานของนักเขียนได้อยู่แล้ว ดังนั้นการที่สมาคมคนตาบอดนำผลงานของนักเขียนมาผลิตเป็นหนังสือเสียงเพื่อให้คนตาบอดเข้าถึงได้ จึงไม่ได้ขัดต่อผลประโยชน์ของนักเขียนแต่ประการใดๆ

ในทางกลับกัน หากนักเขียนมีช่องทางการเข้าถึงผลงานของตนที่รองรับการเข้าถึงของคนตาบอดอยู่แล้ว ทางสมาคมจะไม่มีสิทธิ์นำผลงานของนักเขียนไปผลิตเป็นหนังสือเสียง ซึ่งตรงนี้ Blind living มองว่ามันก็ถูกต้องแล้ว

ส่วนจุดเริ่มต้นของการดราม่าในครั้งนี้ หลักๆ เกิดมาจากอาสาทั่วไป ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับองค์กรคนตาบอด นำผลงานของนักเขียนไปผลิตเป็นหนังสือเสียงเอง และนำไปเผยแพร่สู่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยใช้คนตาบอดเป็นข้ออ้าง อีกทั้งยังไม่มีการจำกัดการเข้าถึง ทำให้บุคคลทั่วไปก็เข้าถึงได้ตามไปด้วย อันนี้ผิลขสิทธิ์แน่นอน ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีจุดประสงค์ดีก็ตาม เพราะอาสาที่จัดทำไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย เพราะตัวกฎหมายเขาระบุไว้อยู่แล้ว ว่าองค์กรใด สามารถจัดทำสื่อหรือช่องทางการเข้าถึงสื่อของคนตาบอดได้บ้าง

หลักๆ จะเป็นตรงนี้ที่ขัดต่อผลประโยชน์ของนักเขียน แต่ไม่ใช่ทางสมาคมคนตาบอด มันคนละส่วนกันครับ

และนี่เป็นข้อสรุปที่ทาง Blind living เห็นว่าเหมาะสมที่สุดแล้ว

สรุป

หากนักเขียนมองว่า “คนตาบอดคือลูกค้า” ก็ต้องจัดทำผลงานออกมาให้รองรับการเข้าถึงของคนตาบอด

เพราะหากไม่มีช่องทางการเข้าถึงผลงานของนักเขียน คนตาบอดถือว่า “ไม่ใช่ลูกค้าในงานนั้นๆ” และทางสมาคมคนตาบอดมีสิทธิ์ทางกฎหมายเต็มที่ที่จะจัดทำผลงานดังกล่าว ในรูปแบบที่คนตาบอดสามารถเข้าถึงได้ โดย “ไม่ขัดผลประโยชน์ของนักเขียนแต่ประการใด” ไม่ว่านักเขียนคนนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม เพราะถ้าไม่มีช่องทางการเข้าถึง และไม่ยินยอมให้ทางสมาคมจัดทำ นั่นจะถือเป็นการ “ปิดกั้นการเข้าถึงสื่อสิ่งพิมพ์ของคนตาบอด”

แต่ทาง Blind living ก็ต้องขอเน้นย้ำองค์กรที่เกี่ยวข้องว่า ถึงแม้นักเขียนจะไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธ แต่อย่างน้อยนักเขียนก็ควรมีสิทธิ์จะรับทราบว่า ใครนำผลงานของตนไปใช้ และนำไปใช้ในจุดประสงค์ใด และหากนักเขียนมีช่องทางการเข้าถึงผลงานของตนได้ในอนาคต นักเขียนควรจะแจ้งให้ทางสมาคมนำผลงานของตนออกจากระบบของทางสมาคมได้อย่างไร

กฎหมายใช้อ้างอิงได้ก็จริง แต่มารยาททางสังคมก็ไม่ควรละเลย

ท้ายที่สุดแล้ว การหาทางออกร่วมกัน ระหว่างสมาคมคนตาบอด สมาคมนักเขียน และกรมทรัพย์สินทางปัญญา จะเป็นการแก้ไขเรื่องนี้ที่ยั่งยืนที่สุดครับ อาทิ เราจะทำอย่างไรให้ทราบได้ว่า หนังสือเล่มไหนมีหนังสือเสียงอยู่แล้ว และหนังสือเล่นไหนที่ยังไม่มีหนังสือเสียง

อีกทั้งหากนักเขียนจัดทำหนังสือเสียงขึ้นภายหลัง จะทำอย่างไรให้ทางสมาคมคนตาบอดทราบ และสมาคมคนตาบอดจะทราบได้อย่างไรว่า หนังสือที่อยู่ในระบบ นักเขียนได้จัดทำหนังสือเสียงของตนเองขึ้นมาแล้ว

ในประเด็นนี้พยายามตัดอารมณ์ส่วนตัวออกแล้วมาคุยกันด้วยเหตุผลครับ นักเขียนที่ยังไม่รู้เรื่องสนธิสัญญามาร์ราเคชดีพอก็ขอให้อ่านก่อนถกปัญหากันครับ เพราะคุณอาจเผลอไปทำลายโอกาสของคนกลุ่มหนึ่งโดยไม่ตั้งใจก็ได้

ส่วนคนที่มองว่านักเขียนใจแคบก็ลองเปิดใจให้กว้าง เพราะนักเขียนที่เขาไม่เห็นด้วย อาจยังไม่ทราบถึงเงื่อนไขของสนธิสัญญาดีพอ อีกทั้งที่เขาแจ้งให้นำหนังสือเสียงออกจากห้องสมุด อาจเป็นเพราะนักเขียนเองมีหนังสือเสียงเป็นของตัวเองอยู่แล้วก็ได้

ขอให้หาทางออกร่วมกันให้ได้ เพื่อคนตาบอด และเพื่อสังคมที่มีแต่ความเข้าใจซึ่งกันและกันครับ

สุริยันต์ สายชมภู บรรณาธิการ นักเขียน และเจ้าของเว็บไซต์ Blind living

สำหรับท่านที่สนใจ สามารถอ่านที่ไปที่มาของประเด็นนี้ได้ตามลิงก์ด้านล่างครับ


ผู้อ่านสามารถสนับสนุนเว็บไซต์ โดยการอุดหนุนนิยายบนเว็บไซต์ เขียนกันดอทคอม เว็บไซต์อ่านนิยายที่คนตาบอดเป็นเจ้าของ และอยากให้สังคมการอ่านเป็นของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าตาดีหรือตาบอด

ให้ดาวบทความนี้: 
No votes yet

แสดงความคิดเห็น