คุณอยู่ที่

สำหรับคนตาบอดแล้ว นิยายเป็นมากกว่านิยาย แล้วจะขายนิยายให้คนตาบอดได้หรือไม่? มาอ่านคำตอบกันเถอะ

ปรับขนาดตัวอักษร

-A A +A
รูปภาพของ suriyan
เขียนโดย suriyan เมื่อ อังคาร, 02/04/2020 - 15:50

เมื่อเราพูดถึง “หนังสือสำหรับคนตาบอด” สิ่งที่สำนักพิมพ์ นักเขียน หรือคนทั่วไปนึกถึงอันดับแรกเลย ก็คงจะไม่พ้นหนังสือเสียงหรือเดย์ซี่ เพราะเป็นเวลาหลายปีแล้ว ที่นักเขียนหลายท่าน รวมถึงสำนักพิมพ์หลายสำนักพิมพ์อนุญาตให้หน่วยงานที่เกี่ยวค่องกับคนตาบอด สามารถนำงานเขียนต่างๆ มาจัดทำในรูปแบบของหนังสือเสียงได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายซึ่งเป็นไปตามสนธิสัญญามาร์ราเคชเพื่อคุณภาพชีวิตคนพิการ ทำให้คนตาบอดได้มีโอกาสเข้าถึงนวนิยาย สารคดี ตลอดจนงานเขียนอื่นๆ ได้อย่างเท่าเทียม

สำหรับคนตาบอดแล้ว หนังสือนิยายถือเป็นสื่อความบันเทิงที่ได้รับความนิยมกันเป็นอย่างมาก เพราะถึงแม้ในปัจจุบันจะมีแอปพลิเคชันบรรยายเสียงภาพยนตร์ออกมาช่วยเหลือในการเข้าถึงภาพยนตร์ ละคร หรือรายการต่างๆ แล้ว แต่คนตาบอดเองก็ยังรู้สึกว่า เข้าถึงนิยายได้มากกว่า เพราะในเนื้อหามีคำอธิบายหรือบรรยายพฤติกรรม รวมถึงความคิดของตัวละครเอาไว้อย่างละเอียด ซึ่งต่างจากพวกภาพยนตร์หรือละคร ที่ถึงแม้จะมีคำบรรยายภาพ แต่ก็แค่ทำให้รู้รายละเอียดคร่าวๆ เท่านั้น จากหลายปัจจัย คนตาบอดจึงเลือกจะเสบนิยายมากกว่าสื่อประเภทอื่น

ดังนั้นเมื่อเทคโนโลยีช่วยอ่านอย่างโปรแกรมอ่านหน้าจอและแอปพลิเคชันอ่านหน้าจอถือกำเนิดขึ้น คนตาบอดจึงไม่ต้องรอเพียงหนังสือเสียงอย่างเดียว แต่สามารถเลือกที่จะหานิยายอ่านได้ด้วยตัวเอง โดยการอ่านนิยายโดยส่วนใหญ่ คนตาบอดจะอ่านผ่านเว็บไซต์ เช่น เด็กดี ธัญวลัย และเว็บนิยายอื่นๆ ซึ่งตัวช่วยอ่านสามารถเข้าถึงได้ทั้งบนพีซีและสมาร์ตโฟน

ยิ่งในปัจจุบันที่ หนังสือรูปแบบ E-Book มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากคนตาบอดจะซื้ออ่านบนเว็บไซต์แล้ว ยังเลือกจะซื้อ E-book ในอีกช่องทางหนึ่งได้ด้วย เพียงแค่ไฟล์ E-book เรื่องนั้นๆ เป็นไฟล์นามสกุล .E-pub ที่คนตาบอดเข้าถึงได้

โดยส่วนตัวไม่อยากให้มองว่า การที่จะให้คนตาบอดเข้าถึงนิยายจะต้องทำให้เป็นหนังสือเสียงแล้วนำขึ้นระบบให้คนตาบอดอ่านฟรีเพียงอย่างเดียว แต่อยากให้มองว่า คนตาบอดก็คือลูกค้าคนหนึ่ง หรือคือแฟนคลับของนักเขียนคนหนึ่ง ซึ่งก็พร้อมที่จะอุดหนุนนักเขียนที่ตัวเองชอบเช่นกันกับคนอื่นๆ ขอเพียงหนังสือหรือนิยายเรื่องนั้นๆ เราสามารถซื้อแล้วเข้าถึงได้

โดยการทำหนังสือให้คนตาบอดและคนตาปกติสามารถใช้ร่วมกันได้ก็ไม่ยากอย่างที่หลายคนคิด อย่างถ้าเปิดขายบนเว็บ คนตาบอดก็สามารถซื้ออ่านได้เช่นกัน ซึ่งเว็บที่เข้าถึงได้แน่ๆ ก็มีตั้งแต่เด็กดี Fictionlog Hongsamut เขียนกัน ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นเว็บที่นักเขียนรู้จักกันดี

ส่วนเว็บดังๆ อีกหลายเว็บ ที่ไม่ได้เอ่ยถึงนั่นก็เพราะว่า บางเว็บลองไปแล้ว แต่เข้าถึงไม่ได้ ส่วนบางเว็บก็ยังไม่ได้ลอง เลยบอกไม่ได้ครับ

ในส่วนของ E-book ก็แค่ทำออกมาในรูปแบบ E-pub คนตาบอดก็เข้าถึงได้แล้วครับ ส่วน PDF อันนี้ส่วนใหญ่จะเข้าไม่ถึง นอกจากคนทำจะทำออกมาโดยความใส่ใจคนตาบอดจริงๆ ถึงจะใช้ได้ ดังนั้นไม่แนะนำครับ ไฟล์ E-pub ชัวร์กว่า แต่ทั้งนี้ไฟล์ที่นำมาแปลงเป็น E-pub จะต้องมาจากไฟล์ Word โดยตรงเท่านั้น แปลงจาก pdf มาคนตาบอดจะเข้าไม่ค่อยถึงครับ

ส่วนใครที่มองว่า ขายหนังสือให้คนตาบอดแล้วรู้สึกบาปหรือไม่ดี อย่าไปคิดแบบนั้นครับ เพราะคนตาบอดก็คนเหมือนกัน ขนาดข้าวยังต้องซื้อ บ้านยังต้องเช่า ทำไมจะซื้อผลงานของทุกท่านไม่ได้ละครับ อีกอย่าง กว่าหนังสือเสียงจะผลิตออกมาได้แต่ละเล่มมันใช้เวลานานมากๆเลยนะ ถ้าคนตาบอดซื้ออ่านได้โดยตรงเลยจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า

นิยายคือโลกใบเล็กๆ ที่จำลองความเป็นจริงเอาไว้ในนั้น หากคนตาบอดเข้าถึงได้เพิ่มขึ้นก็จะช่วยคนตาบอดได้เป็นอย่างมาก ทั้งในเรื่องสี หน้าตา ความรู้สึก สิ่งแวดล้อม พฤติกรรม เมื่อมันก่อประโยชน์ได้ขนาดนี้ เราก็มาขายนิยายให้คนตาบอดอ่านกันเถอะครับ

ขณะนี้มีเว็บไซต์อ่านนิยายออนไลน์หลายเว็บที่คนตาบอดไม่สามารถเข้าถึงได้อีกต่อไป จากสาเหตุดังกล่าว เราเลยตัดสินใจพัฒนาแพลทฟอร์มอ่านเขียนนิยายขึ้นมา ทั้งนี้เพื่อสำหรับนักอ่านและนักเขียน ทั้งตาดีและตาบอด เพื่อให้แพลทฟอร์มนี้เป็นสื่อกลาง

เพราะเราไม่รู้ว่าในอนาคต เราจะเหลือเว็บนิยายที่เข้าถึงได้สักกี่เว็บ ดังนั้นเราจึงพัฒนาแพลทฟอร์มอ่านนิยายหรือ www.keangun.com ขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการรับประกันว่า ไม่ว่าเว็บนิยายอื่นๆ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่อย่างน้อยเว็บเขียนกันจะต้องยังเข้าถึงได้เสมอ

เพราะเราเชื่อว่า เว็บไซต์ที่ดีและมีคุณภาพ จะต้องเป็นเว็บไซต์ที่ทุกคนใช้งานร่วมกันได้ ไม่ว่าคนคนนั้นจะมีปัญหาด้านใดก็ตาม


ผู้อ่านสามารถสนับสนุนเว็บไซต์ โดยการอุดหนุนนิยายบนเว็บไซต์ เขียนกันดอทคอม เว็บไซต์อ่านนิยายที่คนตาบอดเป็นเจ้าของ และอยากให้สังคมการอ่านเป็นของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าตาดีหรือตาบอด

ให้ดาวบทความนี้: 
No votes yet

แสดงความคิดเห็น