คุณอยู่ที่

เมื่อเข้าศึกษาใหม่ในมหาวิทยาลัย คนตาบอดควรทำอะไรบ้าง นักศึกษาใหม่ควรอ่าน

ปรับขนาดตัวอักษร

-A A +A
รูปภาพของ suriyan
เขียนโดย suriyan เมื่อ พฤหัสฯ, 07/16/2020 - 10:09

คาดว่าในช่วงนี้ มหาวิทยาลัยหลายแห่งคงเริ่มเปิดสอนกันแล้ว หรือบางส่วนก็คงเหลืออีกไม่กี่เดือน ช่วงนี้แหละ ที่น้องๆ จะเริ่มวิตกกังวลว่า เราจะปรับตัวกับเพื่อนใหม่ได้หรือเปล่า จะเรียนรู้เรื่องมั้ย จะเดินทางอย่างไร จะมีใครช่วยเราหรือเปล่า

วันนี้ผมจะมาเขียนแนะนำขั้นตอนต่างๆ ที่นักศึกษาใหม่ควรทำ เมื่อเราเพิ่งเข้ารั้วมหาวิทยาลัยไปในช่วงแรกๆ กันครับ คิดว่าคงได้ใช้บ้างไม่มากก็น้อย

1. หากทางมหาวิทยาลัยมีการเข้าคลาส หรือที่หลายคนมักเรียกกันว่า “กิจกรรมรับน้อง” นักศึกษาตาบอดควรเข้าเป็นอย่างยิ่งครับ ถึงแม้ว่าเราจะร่วมกิจกรรมบางอย่างไม่ได้ ไปนั่งเฝ้าก็ยังดี

ถามว่าทำไมถึงควรเข้า นั่นเพราะเราจะได้ไปเรียนรู้วัฒนธรรมของมหา’ลัยว่าเป็นอย่างไร อะไรควรทำไม่ควรทำ หากเรียนไม่ได้จะทำยังไง หากติด F ไปจะทำแบบไหน (การติด F จะคล้ายๆ การติดสูนติดรอของมัธยม) ต้องลงวิชา GE อย่างไร (GE คือวิชาที่เราเลือกลงเรียนได้ โดยทางมหาวิทยาลัยจะกำหนดให้เราว่า จะต้องเก็บวิชาเลือกกี่หน่วยถึงจะครบ ซึ่งเราก็ต้องตามเก็บให้ครบตามหน่วยกิจที่กำหนด)

ซึ่งในการเข้าคลาส STAFF ที่เป็นรุ่นพี่ของเรา จะอธิบายทุกอย่างให้เราทั้งหมด หากเราไม่ไป แน่นอนว่าเราก็จะไม่รับรู้ข้อมูลในส่วนนี้ ขอบอกเลยว่า การใช้ชีวิตในมหา’ลัยจะลำบากมาก

อีกประการที่สำคัญก็คือ หากเราไปเข้าคลาส ก็จะทำให้มีคนรู้จักเรามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมสาขา หรือเพื่อนร่วมคณะ เวลาเราไปไหนมาไหน คนที่เคยเข้าคลาสร่วมกับเรานี่แหละ ที่จะคอยช่วยเหลือ ถึงแม้ว่าคลาสรับน้องจะผ่านไปแล้วก็ตาม

หากเราไม่เข้า ไม่ใช่แค่เพื่อนร่วมคณะจะไม่รู้จักเรา แต่เพื่อนร่วมห้องหรือร่วมสาขากับเรา ก็จะพลอยไม่รู้จักเราไปด้วย พอเริ่มเข้าเรียน เราก็จะลำบากแล้วทีนี้ เพราะจะหาเพื่อนคุยในห้องก็ยาก จะหาคนไปรับไปส่งก็ยาก แน่นอนว่าเรามี DSS (เจ้าหน้าที่สนับสนุนคนพิการในมหา’ลัย) คอยช่วย แต่เราโตแล้ว จะคอยพึ่งพา DSS อย่างเดียวเลยหรือ มันคงไม่ใช่แน่นอน

2. ภยายามเข้าหาอาจารย์ผู้สอนให้ได้มากที่สุด เพราะเราจะเรียนได้ไม่ได้ ส่วนที่สำคัญนอกจากตัวเราแล้ว ก็คืออาจารย์ผู้สอนนี่แหละ การเรียนในมหา’ลัย จะเป็นการเรียนแบบบรรยายประกอบข้อมูลบนหน้าจอ ดังนันเอกสารเพื่อใช้อ่านประกอบจึงสำคัญ เพราะในนั้นจะมีรายละเอียดเชิงลึกมากมายที่เราต้องใช้ศึกษาเพิ่มเติมด้วยตัวเอง

เราจะต้องเข้าหาอาจารย์ พูดคุยกับอาจารย์ให้เข้าใจ ว่าเราเรียนแบบไหน ใช้ไฟล์อะไร ส่วนใหญ่ตัวไฟล์จะเป็น pdf เราก็ต้องอธิบายไปว่า เราเข้าไม่ค่อยถึงไฟล์ pdf อาจารย์มีไฟล์ Word หรือไม่ ถ้ามีขอได้หรือไม่ ถ้าไม่มีอาจารย์พอมีวิธีอื่นอีกมั้ย ตรงนี้สำคัญมาก เพราะหากเรามัวแต่นั่งเงียบ อาจารย์ผู้สอนก็คงไม่รู้ ถ้าอาจารย์บางท่านเอ่ยถามก็ดี แต่บางท่านไม่ถามนะบอกเลย เราโตแล้ว ต้องช่วยตัวเอง เข้าหาท่านด้วยตัวเอง

3. เมื่อได้ไฟล์เอกสาร หรือเอกสารที่เป็นกระดาษมาแล้วอย่าเก็บเอาไว้เฉยๆ แต่เราจะต้องรีบติดต่อส่งเอกสารที่เราได้มาให้กับ DSS เพื่อที่ทางครูเจ้าหน้าที่จะได้เร่งผลิตสื่อที่เราได้มาเป็นหนังสือเบรลล์ให้เรา โดยเอกสารที่ควรส่งคือ เอกสารที่เป็นกระดาษหรือตัวที่เป็นไฟล์ pdf หรืออะไรก็ได้ ที่เราคิดว่าโปรแกรมอ่านหน้าจอเข้าไม่ถึง

ถามว่าทำไมต้องรีบส่ง นั่นเพราะการผลิตสื่อไม่ใช่เรื่องง่าย มันจำเป็นต้องใช้เวลา ถ้าเราส่งช้าเราก็ได้ช้า เมื่อเราได้ช้า เราก็จะเรียนไม่ทันเพื่อน นี่แหละผมถึงบอกให้รีบส่ง

อย่าลืมว่าในมหา’ลัย ไม่ใช่เราคนเดียวที่เป็นคนพิการ แต่มันยังมีคนอื่นๆ ด้วย ดังนั้นใครส่งก่อน DSS ก็ทำให้ก่อน ดังนั้นถ้าได้ไฟล์มา แล้วคิดว่าจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือก็ให้รีบส่งไปนะครับ

4. หากเพื่อนชวนไปไหน ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ อย่าปฏิเสธ เพราะกลุ่มเพื่อนที่ชวนเราไปนั่นมานี่ นั่นแสดงว่าเขาเริ่มยอมรับเราในระดับหนึ่งแล้ว ในมหา’ลัย การมีกลุ่มเพื่อนจำนวนหนึ่งคอยช่วยเหลือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะนอกจากเพื่อนจะคอยช่วยในเรื่องต่างๆ แล้ว เมื่อมีงานกลุ่มมา เราก็ไม่ต้องคิดหนักว่าเราจะมีกลุ่มอยู่หรือเปล่า เวลาที่มีคาบเรียนเช้าบ่ายติดต่อกัน เราก็ไม่ต้องกังวลว่าจะมีใครพาไปกินข้าวหรือเปล่า คือเรื่องสังคมระหว่างเพื่อนนี่สำคัญมาก สำคัญพอๆ กับเรื่องเรียนเลยทีเดียว

นักศึกษาตาบอดบางคนไปให้ความสำคัญกับเพื่อนตาบอดมากเกินไปจนละเลยเพื่อนตาดี ผมบอกเลยอย่าคิดแบบนั้น เพื่อนก็คือเพื่อน ไม่มีตาดีตาบอด ทั้งสองสังคมมันเกื้อหนุนกันได้ อย่าหันไปทางไหนทางหนึ่งมากเกินไป ที่สำคัญ วันๆ หนึ่งเราเจอเพื่อนตาบอดไม่บ่อยหรอก ถ้าหอไม่ได้อยู่ใกล้กัน ยิ่งใครที่พักคนละหอแล้วอยู่ไกลกัน แทบจะไม่ได้เจอกันด้วยซ้ำ ไอ้ที่คิดว่าเดินอยู่ในมหา’ลัยแล้วจะบังเอิญไปเจอเพื่อนตาบอด แล้วยืนคุยนั่งคุยกัน บอกเลยว่ายากมาก คนที่เราจะได้คุยด้วย หลักๆ ก็คือเพื่อนตาดีนี่แหละ

ส่วนเพื่อนตาบอด เราจะได้เจอกันก็เฉพาะตอนเย็น (ที่ไม่มีกิจกรรม) หรือไม่ก็วันหยุด (ที่ไม่มีกิจกรรม) นั่นแหละ ในเวลาปกติช่วงกลางวันเราจะไม่ค่อยได้พบเพื่อนตาบอดหรอก เพราะต่างคนต่างเรียน ต่อให้เราว่างไม่มีเรียน เพื่อนเราก็มีเรียนอยู่ดี ตารางมันไม่ตรงกัน เพื่อนตาดีก็สำคัญ เพื่อนตาบอดก็สำคัญ ดังนั้นให้ความสำคัญเท่าๆ กันน่ะดีแล้ว

อีกอย่างที่อยากจะบอกในประเด็นนี้ก็คือ เวลาเราจะขอความช่วยเหลือจากเพื่อนตาดีไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม ให้เราคิดอยู่เสมอว่าเขาคือเพื่อนไม่ใช่คนรับใช้เรา จะวานอะไรก็ต้องดูความเหมาะสม ไม่ใช่อยากไปไหนก็ใช้ อันนั้นอันนี้ไม่ได้ก็เรียกใช้ จะไปกินข้าวก็เรียกใช้มันซะทุกคาบ คือแบบนี้ไม่ไหวครับ ให้เราขอความช่วยเหลือเท่าที่จำเป็นก็พอ เรามีมือมีท้าวไปเองมาเองได้ อย่าแสดงพฤติกรรมแบบนั้นเลย ถึงเพื่อนจะเต็มใจหรือไม่บ่น แต่เราก็ควรคิดได้เองครับ

หลักๆ สิ่งที่ควรทำก็มีประมาณนี้ครับ ถ้าทำได้ครบทุกข้อ การใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยจะไม่ใช่เรื่องยาก มิหนำซ้ำจะสนุกกว่าตอนเรียนอยู่มัธยมอีกครับ ลองนำไปปรับใช้ดูนะครับ


ผู้อ่านสามารถสนับสนุนเว็บไซต์ โดยการอุดหนุนนิยายบนเว็บไซต์ เขียนกันดอทคอม เว็บไซต์อ่านนิยายที่คนตาบอดเป็นเจ้าของ และอยากให้สังคมการอ่านเป็นของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าตาดีหรือตาบอด

ให้ดาวบทความนี้: 
Average: 5 (1 vote)

ขอบคุณครับ

ยินดีครับ

แสดงความคิดเห็น