คุณอยู่ที่

อักษรเบรลล์จำเป็นแค่ไหน? สำหรับคนตาบอดไทยในปัจจุบันที่ประกอบไปด้วยเทคโนโลยี

ปรับขนาดตัวอักษร

-A A +A
รูปภาพของ suriyan
เขียนโดย suriyan เมื่อ พุธ, 09/29/2021 - 20:54

ย้อนไปเมื่อเกือบยี่สิบปีที่แล้ว แม้ว่าขณะนั้นคนตาบอดจะเริ่มใช้คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์กันได้ แต่ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายกันมากนัก เพราะเวลานั้นอุปกรณ์ที่คนตาบอดเข้าถึงมีราคาแพงมาก อีกอย่างคือไม่ใช่ทุกยี่ห้อที่คนตาบอดจะใช้งานได้ ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีก็ยังไม่ทั่วถึง คอมพิวเตอร์พกพาก็ราคาสูงเกินไป อีกทั้งอุปกรณ์คอมพิวเตอร์สำหรับเรียนรู้ก็ยังมีไม่พอเพียงกับความต้องการ ทำให้ในเวลานั้นการเรียนการสอน รวมถึงความบรรเทิง (เช่นการอ่านนิยาย) จึงอยู่ในรูปแบบภาษาเบรลล์หรืออักษรเบรลล์เป็นหลัก

ดังที่กล่าวไปข้างต้น การที่คนตาบอดจำเป็นต้องมีทักษะพื้นฐานอักษรเบรลล์จึงเป็นสิ่งสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เพราะสื่อต่างๆ ของคนตาบอดถูกจำกัดให้อยู่เพียงรูปแบบหนังสือเบรลล์ อีกทั้งวิชาการเขียนการอ่านยังต้องมีภาษาเบรลล์เป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่ส่งเสริมให้คนตาบอดมีทักษะการอ่านออกเขียนได้อย่างคนตาดี พูดได้ว่า ถ้าอ่านอักษรเบรลล์ได้ ก็สามารถเข้าใจตัวอักษรไทยได้เช่นคนทั่วไป เพราะอักษรเบรลล์ของคนตาบอดไทย เป็นตัวอักษรของไทยในรูปแบบอักษรเบรลล์ ทั้งในรูปอักษร พยัญชนะ วรรณยุกต์ และสระ

อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็คงรู้แล้วว่า ทำไมทักษะการใช้งานอักษรเบรลล์ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับคนตาบอด เพราะอักษรเบรลล์ หรือที่เราเรียกกันว่าภาษาเบรลล์ มันคือพื้นฐานการศึกษาของคนตาบอดนั่นเอง

ทีนี้เราลองมาคุยกันถึงปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีเป็นองค์ประกอบหลักของการใช้ชีวิตของคนตาบอดกันบ้าง

ดังที่หลายคนทราบว่า ในปัจจุบันนี้ บรรดาอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ รวมถึงโทรศัพท์มือถือ ต่างก็มีโปรแกรมและแอปพลิเคชันที่คอยแปลงตัวอักษรที่ปรากฏขึ้นบนหน้าจอออกมาเป็นเสียงเพื่อให้คนตาบอดสามารถฟังได้ ดังนั้นเรื่องการเข้าถึงสื่อ ข่าวสารความรู้ต่างๆ จึงไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่อักษรเบรลล์หรือหนังสือเสียงอีกต่อไป เพราะไม่ว่าจะเป็นไฟล์เอกสาร หรือการหาความรู้บนเว็บไซต์ ไม่ใช่อุปสรรคของคนตาบอดดังแต่ก่อน

แม้ว่าจะเป็นแบบนี้ก็จริง แต่สำหรับคนตาบอด อักษรเบรลล์ก็ยังถือว่าสำคัญ เนื่องเพราะอักษรเบรลล์ ยังคงเหมาะกับการเรียนการสอนในระดับพื้นฐาน เช่นการเขียนการอ่าน การที่ทำให้คนตาบอดมีพื้นฐานในการนำความรู้พื้นฐานไปใช้ต่อยอดในการพิมพ์สื่อสารบนคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์

เพราะหากเราไม่ใช้อักษรเบรลล์สอนคนตาบอดในพื้นฐานตรงนี้ หากรอให้คนตาบอดไปฟังจากโปรแกรมอ่านหน้าจอหรือแอปพลิเคชันอ่านหน้าจอ คนตาบอดก็จะอ่อนในทักษะการอ่าน รวมถึงการสะกดคำต่างๆ แม้ว่าจะมีการ “สั่งพิมพ์ด้วยเสียง” แต่ส่วนเสริมตรงนั้นเพียงแค่ทำให้คนตาบอดใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ได้สะดวกและรวดเร็วขึ้นในบางกรณี ทว่าไม่สามารถนำไปใช้ในการทำงานได้ เพราะในการทำงานจริงๆ ทักษะการอ่านออกเขียนได้ ก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเวลาทำงานจริงๆ คนตาบอดก็ต้องใช้การพิมพ์ด้วยตนเองบนคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่สั่งพิมพ์ด้วยเสียง อีกทั้งการสั่งพิมพ์ด้วยเสียง ก็ไม่ได้มีความถูกต้องแม่นยำขนาดนั้น

ถึงกระนั้นเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า อักษรเบรลล์มีความจำเป็นในชีวิตคนตาบอดน้อยลง เพราะเมื่อเราเรียนพื้นฐานจนอ่านออกเขียนได้แล้ว เมื่อเราออกไปเรียนในระดับสูงขึ้น หรือเวลาเราออกไปทำงาน สิ่งที่เราต้องใช้จริงๆ คือการสื่อสารบนคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ ไม่ใช่ภาษาเบรลล์

อารมณ์ก็ประมาณ ตอนเด็กๆ เราฝึกคัดลายมือแทบตาย แต่พอตอนเรียนสูงๆ หรือตอนทำงาน เรากลับได้มานั่งใช้คีบอร์ดคอมพิวเตอร์นั่นแหละ เปรียบเทียบแบบนี้ คงจะเห็นภาพกันไม่มากก็น้อย

เมื่อเรารู้ว่าภาษาเบรลล์สำคัญ แต่ไม่ใช่สำคัญเท่าแต่ก่อน การปรับตัวจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ทั้งคนตาบอดเอง รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับคนตาบอดเองก็ตาม

ในแง่ของคนตาบอด เราคงพูดได้แค่ว่า เรียนรู้ทักษะการใช้งานคอมพิวเตอร์ให้มาก ฝึกพิมพ์ให้ไว สะกดคำให้ถูก อย่าไปใช้สั่งพิมพ์ด้วยเสียงจนเคยตัว เพราะนั่นมันใช้ทำงานจริงไม่ได้ รวมถึงใช้ส่งงานอาจารย์ก็ไม่ได้ (หากเรียนอยู่อะนะ) ยิ่งการใช้งาน Microsoft Word เนี่ย สำคัญมากๆ

ส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคนตาบอด เช่นเจ้าหน้าที่ ครู อาจารย์ ก็ต้องเข้าใจว่า ในปัจจุบัน สื่อการเรียนการสอน ไม่ได้ผูกติดอยู่กับอักษรเบรลล์ หรือหนังสือเบรลล์อีกต่อไป ดังนั้นพวกเอกสารต่างๆ หากทำเป็นไฟล์ Word หรือไฟล์ E-pub ได้ ก็จะมีความสะดวกและรวดเร็วขึ้น ทั้งในแง่คนทำเอกสารและคนรับเอกสารไปใช้

ครูอาจารย์หลายท่านมีความกังวลว่า หากทำไฟล์เอกสารเช่น Word หรือ E-pub ให้คนตาบอดไป จะเป็นการทำให้คนตาบอดขาดทักษะการอ่านเขียนไป เพราะได้ไฟล์ไป ก็จะเอาไปนั่งฟังเฉยๆ ทำให้ไม่รู้ว่าคำไหนสะกดอย่างไร ซึ่งข้อกังวลนั้นก็ไม่ผิด แต่ส่วนตัวเห็นว่า มองแบบนั้นก็ใช่ว่าจะถูกเช่นกัน เพราะโปรแกรมสำหรับอ่าน มันจะมีให้คนตาบอดเลือกได้ ว่าจะให้ตัวแอปพลิเคชันหรือโปรแกรมอ่านเป็นประโยค อ่านเป็นคำ หรืออ่านเป็นตัวสะกด ดังนั้นหากคนตาบอดคนนั้นๆ ไฝ่รู้ไฝ่สังเกตจริงๆ หากอยากรู้ว่าคำไหนสะกดอย่างไร ก็แค่ตรวจสอบดู เพียงเท่านั้นเราก็รู้แล้ว ว่าคำไหนสะกดอย่างไร ดังนั้นการทำสื่อ จึงไม่จำเป็นต้องเน้นไปที่ไฟล์เบรลล์ก็ได้

อีกทั้งการทำหนังสือเบรลล์ยังใช้เวลานานมากกว่าไฟล์ Word และ E-pub มาก ทำให้การใช้งานอาจล่าช้าและพกพาไม่สะดวก แต่หากเป็นไฟล์ Word และ E-pub ขอแค่มีคอมพิวเตอร์พกพาหรือโทรศัพท์ เพียงเท่านั้นก็เปิดอ่านได้แล้ว

ดังนั้นบทความนี้จึงพอสรุปได้ว่า ภาษาเบรลล์สำหรับคนตาบอดยังถือว่าเป็นความรู้ขั้นพื้นฐานที่จะขาดไปไม่ได้ เพราะอักษรเบรลล์ ถือได้ว่าเป็นรากฐานทักษะการอ่านเขียนของคนตาบอด แต่หากเราอ่านเขียนได้คล่องแล้ว คนตาบอดก็ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาเบรลล์อีกต่อไป เพราะถือว่าเราเอาทักษะตรงนั้นมาต่อยอดในการสะกดคำบนอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อมาสื่อสารแบบคนตาดีได้แล้ว

เช่นผมในตอนนี้ หากไม่มีทักษะการอ่านเขียนภาษาเบรลล์เป็นพื้นฐานมาก่อน ก็คงจะไม่พิมพ์บทความได้ถูกต้องขนาดนี้


ผู้อ่านสามารถสนับสนุนเว็บไซต์ โดยการอุดหนุนนิยายบนเว็บไซต์ เขียนกันดอทคอม เว็บไซต์อ่านนิยายที่คนตาบอดเป็นเจ้าของ และอยากให้สังคมการอ่านเป็นของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าตาดีหรือตาบอด

ให้ดาวบทความนี้: 
Average: 5 (2 votes)

แสดงความคิดเห็น