คุณอยู่ที่

คนตาบอดคิดอย่างไร กับคำว่า "คนพิเศษ" รู้สึกดี + แย่ มาอ่านความจริงกัน

ปรับขนาดตัวอักษร

-A A +A
รูปภาพของ suriyan
เขียนโดย suriyan เมื่อ เสาร์, 05/18/2019 - 22:54

   หลายครั้ง ที่เวลาคนตาบอดจะไปไหนมาไหน หรือจะทำอะไร ส่วนใหญ่ ก็มักจะได้รับการดูแลที่ดีกว่าคนปกติทั่วไป ซึ่งนั่นถือเป็นสิ่งที่ดีมาก ในความรู้สึกของคนตาบอด
เพราะต้องยอมรับว่า บางอย่าง หรือบางสถานการณ์ เราก็ไม่สามารถที่จะพึ่งพาตนเองได้เต็มที่มากนัก ดังนั้นจึงต้องมีบุคคลทั่วไป คอยให้การช่วยเหลือในบางครั้ง...และนี่เอง
คือที่มาของคำว่า "คนพิเศษ" หรือหากอยู่ในวัยเรียน ก็จะถูกเรียกว่า "เด็กพิเศษ" นั่นเองครับ

   สำหรับคนปกติ อาจจะไม่รู้สึกกับคำนี้มากนัก เพราะคิดไปว่า "คนพิเศษ" หรือ "เด็กพิเศษ" ก็เป็นเพียงคำที่ใช้เรียกกลุ่มเด็ก หรือกลุ่มคน ที่ต้องมีการดูแลดีกว่าคนอื่นๆ
เท่านั้นเอง

   แต่สำหรับตัวผมเอง และคนตาบอดส่วนหนึ่ง มักจะรู้สึกไม่ชอบคำเหล่านี้เท่าไหร่ เพราะในมุมมองของคนตาบอดส่วนหนึ่ง คำเหล่านี้ มันเป็นเหมือนคำที่บ่งบอกเป็นนัยๆ
ว่า "เราแตกต่างจากคนอื่นๆ" มันเหมือนกับ "เราแปลกแยกจากคนอื่น หรือไม่เป็นกลุ่มเดียวกันกับสังคมรอบข้าง" ซึ่งนั่น ค่อนข้างจะเป็นความรู้สึกที่ไม่โอเคเลย

   บางท่านอาจมองว่า ก็เราแตกต่างจากคนอื่นจริงๆ ระหว่างคนปกติ กับคนตาบอด มันก็ต่างกันอยู่แล้ว หรือยอมรับตัวเองไม่ได้ คำตอบคือ "ยอมรับได้ครับ" เรารู้ว่าตัวเองต่างจากคนอื่นอยู่แล้ว
ทว่า ถึงเราจะต่าง แต่เราก็ไม่ได้อยากแปลกแยกจากคนอื่นนะครับ

   เรารู้ว่าเราต่าง และเรายอมรับข้อนี้ดี แต่เราก็รู้อีกด้วยว่า มันมีอะไรที่เราทำได้ และคนทั่วไปทำไม่ได้ ในทางกลับกัน มันก็มีบางอย่างที่คนทั่วไปทำได้ แต่เรากลับทำไม่ได้
ไม่ใช่แค่คนตาดีกับคนตาบอดเท่านั้น แม้แต่ระหว่างคนตาบอดเอง หรือคนตาดีเอง ก็ยังมีข้อต่าง คนเราแต่ละคน ย่อมมีอะไรไม่เหมือนกันอยู่แล้ว...ผมเชื่อเช่นนั้น

   ซึ่งผมมองว่า คำว่า "คนพิเศษ" หรือ "เด็กพิเศษ" มันเป็นคำที่แสดงว่าเราแปลกแยกจากคนอื่น อย่างเวลาที่เราอยู่โรงเรียนหรือมหา'ลัย เวลาที่เหล่าอาจารย์ หรือคุณครู
อยากจะฝากให้ใครสักคนดูแลเรา แทนที่จะใช้คำว่า "ดูแล (ชื่อ) หน่อยนะ เขามองไม่เห็น" กลับพูดว่า "ดูแลเด็กพิเศษหน่อย" หรือไม่บางทีก็ใช้คำพูดว่า "ดูแลให้ดีนะ
เขาเป็นคนพิเศษ" ซึ่งพอฟังไปฟังมาแล้ว มันทำให้ผม และคนตาบอดบางส่วน รู้สึกว่าเราแปลกแยกจริงๆ คนอื่นทั่วไป เวลาต้องการการดูแล กลับเรียกชื่อ เช่น "ดูแลนาย
ก. หน่อยนะ" แต่หากเป็นคนตาบอด มักจะเป็น "ดูแลเด็กพิเศษหน่อย" ขึ้นมาทันที

   ถึงแม้หากไม่คิดมาก คำว่า "พิเศษ" มันก็เป็นแค่คำๆ หนึ่ง ซึ่งบอกว่าเราพิเศษกว่าคนอื่น แต่ประเด็นก็คือ "เราก็ไม่ได้อยากเป็นคนพิเศษ กว่าคนอื่นๆ นี่สิครับ"

   เวลาโดนผู้หลักผู้ใหญ่พาไปแนะนำตัว เวลาเข้าอบรมงานวิชาการหลายครั้ง ผมมักจะถูกแนะนำตัวว่า "ไหว้อาจารย์สิลูก" พอผมไหว้เสร็จ คำต่อมาที่มักจะได้ยินก็คือ
"อาจารย์ครับ นี่ลูกศิษย์ผมเอง เขาเป็นเด็ก 'พิเศษ' นะ เก่งมากเลย"

   ถ้าให้เลือกได้ อยากให้มาแนวนี้มากกว่า "อาจารย์ครับ นี่ลูกศิษย์ผมเอง เขาตาบอดนะ แต่ทำอะไรได้ แทบจะไม่ต่างจากคนทั่วไปเลย" จะดีกว่าครับ เพราะผม "ไม่ได้พิเศษ"
กว่าคนอื่นๆ ผมเท่าเทียมเพื่อนคนอื่น แค่ผม "ตาบอด" เท่านั้นเอง

   บางทีคำหรือประโยค ที่เราสร้างขึ้นเพื่อคนกลุ่มหนึ่ง หรือนำมาเรียกแทนตัวของคนกลุ่มนั้นๆ มันอาจจะฟังดูดีสำหรับคนทั่วไป แต่คนที่ถูกคำนั้นใช้เรียก อาจจะไม่ได้
'รู้สึกดี' ไปด้วยนะครับ ในใจลึกๆ ของคนพิการทั่วไป หรือคนตาบอด เราไม่ได้อยาก 'พิเศษ' กว่าคนอื่นๆ แต่เราอยาก 'เท่าเทียม' กับคนอื่น อยู่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับคนในสังคน
โดยไม่ได้แบ่งแยกว่า ใคร 'พิเศษ' หรือ ไม่ 'พิเศษ'

   สำหรับคนที่ทนอ่านมาถึงตรงนี้ แสดงว่าคุณเป็นอีกคนหนึ่ง ที่มีความพยายามในการที่จะเข้าใจคนอื่นๆ ผมก็ขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับผม


ผู้อ่านสามารถสนับสนุนเว็บไซต์ โดยการอุดหนุนนิยายบนเว็บไซต์ เขียนกันดอทคอม เว็บไซต์อ่านนิยายที่คนตาบอดเป็นเจ้าของ และอยากให้สังคมการอ่านเป็นของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าตาดีหรือตาบอด

ให้ดาวบทความนี้: 
No votes yet