คุณอยู่ที่

จะเล่าช่วงวัยเด็กของคนตาบอดให้ฟัง : โรงเรียน วิถีชีวิต การศึกษา และสังคม

ปรับขนาดตัวอักษร

-A A +A
รูปภาพของ suriyan
เขียนโดย suriyan เมื่อ พฤหัสฯ, 01/16/2020 - 15:12

เมื่อเราพูดถึงคนตาบอดหรือผู้พิการทางสายตา สิ่งหนึ่งที่หลายคนอยากรู้และสงสัยนั่นก็คือ หากในสังคมทั่วไปไม่มีโรงเรียนเฉพาะทางที่เปิดสอนคนตาบอด แล้วเด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็นจะสามารถเรียนหนังสือ หรือการฝึกทักษะต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้จากที่ไหน

ซึ่งอันที่จริงแล้ว ถึงแม้ โรงเรียนสอนคนตาบอด จะมีน้อยเมื่อนำไปเปรียบกับโรงเรียนทั่วไป แต่ก็มีอยู่ทุกภาคของประเทศไทย หากให้ประมาณ ก็คงมีอย่างน้อย ภาคละ 2 – 4 โรงเรียน ซึ่งก็เพียงพอต่อความต้องการแล้ว จะเสียอยู่อย่างเดียวก็คือ เด็กตาบอดบางส่วนจะต้องออกจากบ้านตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อเดินทางไปเข้าเรียนยังจังหวัดที่โรงเรียนตั้งอยู่

อายุของเด็กในโรงเรียนสอนคนตาบอดโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 5 – 20 ปี ซึ่งก็มีตั้งแต่เด็กเล็กๆ ไปจนถึงวัยรุ่น โดยระดับการศึกษา จะไม่ได้นับตามอายุ แต่นับตามช่วงชั้นที่เรียนอยู่ เพราะว่าเด็กแต่ละคนมาเข้าเรียนตอนอายุไม่เท่ากัน เช่นบางคนมาเข้าเรียน ป. 1 ตอน 7 ปี ส่วนบางคนอายุ 10 ปี เพิ่งได้มีโอกาสมาเข้าเรียน ป. 1 ทำให้ช่วงชั้นแต่ละช่วงชั้น มีเด็กที่อายุต่างกัน ดังนั้นการที่เด็กตาบอด ป.1 จะเป็นเพื่อนกับเด็ก ป. 6 หรือเด็ก ม. 1 จะมีอายุเท่ากับเด็ก ม. 5 นั้นถือว่าเป็นเรื่องปกติ

โรงเรียนสอนคนตาบอดจะมีลักษณะคล้ายกับโรงเรียนกินนอน นั่นก็คือเรียนที่นั่น กินที่นั่น และนอนที่นั่น เสาร์อาทิตย์หากใครบ้านไกลก็เล่นอยู่ที่นั่น จะต่างจากโรงเรียนกินนอนทั่วไปก็คือ หากใครได้ออกไปเรียนรวมข้างนอก กล่าวคือไปเรียนในโรงเรียนเด็กตาปกติทั่วไป กลางวัน ทางโรงเรียนก็จะมีรถคอยรับคอยส่ง (ให้อารมณ์คล้ายๆ กับเด็กในตัวหมู่บ้านหรือตัวอำเภอนั่งรถโดยสารเข้าไปเรียนในเมือง) พอถึงตอนเย็นก็กลับมาพักหอข้างใน

หอพักภายในโรงเรียนจะเป็นแบบหอรวม นั่นก็คือให้บรรญากาศเหมือนๆ กับที่นอนในค่ายทหาร บางที่หากเด็กไม่เยอะ หรือหอพักกว้างพอก็จะเป็นเตียงชั้นเดียวตั้งเรียงข้างกันไปเรื่อยๆ ส่วนบางโรงเรียนพื้นที่หอน้อย หรือมีเด็กเยอะ ก็จะเป็นเตียง 2 ชั้นตั้งเรียงกันไป เด็กโตจะนอนชั้นบน เด็กเล็กนอนชั้นล่าง เผื่อกันพลัดตก นอกจากเตียงแล้ว แต่ละคนก็จะได้ตู้เพื่อไว้เก็บของและเสื้อผ้าอีกคนละใบ

ในระบบหอพัก จะมีแม่บ้านอย่างน้อยหนึ่งคนคอยดูแล หากเป็นเด็กที่ยังไม่โต แม่บ้านจะเป็นคนอาบน้ำให้ทั้งเช้าเย็น จากนั้นก็จะเป็นรุ่นพี่คอยแต่งตัวให้รุ่นน้อง โดยรุ่นพี่แต่ละคนก็จะมีน้องเป็นของตัวเอง ทั้งคอยดูแล สอนแต่งตัว สอนพับผ้าห่ม และอื่นๆฯ จนกว่าเด็กเล็กจะทำได้ด้วยตัวเอง ถึงจะปล่อยให้น้องทำกิจวัตรประจำวันเอง จากนั้นพอมีเด็กใหม่เข้ามา ก็ดูแลกันเป็นทอดๆ ไป ส่วนพี่ที่ไม่มีน้อง ก็มีหน้าที่อื่นๆ ให้ทำ เช่น ส่งผ้าที่ใช้แล้วลงไปให้ผู้ดูแลซัก ทิ้งขยะ ยกน้ำดื่มขึ้นมาบนหอ และอื่นๆฯ

นอกจากบางโรงเรียนที่เป็นหญิงล้วนหรือชายล้วนแล้ว โดยส่วนใหญ่ โรงเรียนสอนคนตาบอดจะรับสอนทั้งเพศหญิงและชาย ระดับการมองเห็นก็จะคะกันไป บางคนมองไม่เห็นเลย บางคนพอเห็นแสงบ้าง หรือบางคนก็มองเห็นชัดกว่าคนสายตาสั้นปกติเสียอีก แต่ที่ได้มาเรียน ก็เพราะตอนเด็ก แพทย์วินิจฉัยว่า การมองเห็นมีปัญหา เลยได้บัตรคนพิการมาตั้งแต่นั้น ทั้งตัวเองก็คิดว่า มองเห็นน้อยกว่าคนที่สายตาปกติ (100 เปอร์เซ็นต์) ก็เลยมาอยู่กับโรงเรียนสอนคนตาบอดในลักษณะนี้ ดังนั้น การที่หลายคนเข้าใจว่า โรงเรียนสอนคนตาบอดคงจะมีแต่เด็กที่มองไม่เห็นเลย จึงไม่เป็นความจริงเสียทีเดียว

เวลาว่าง เด็กตาบอดก็จะใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป มีนั่งฟังเพลง เล่นโทรศัพท์ ดูหนัง เล่นดนตรี เล่นกีฬาไม่ต่างกัน ดังนั้นแขกหลายๆ ท่านที่มีโอกาสไปเลี้ยงอาหารที่โรงเรียนคนตาบอด จึงมักจะมีความคิดเห็นว่า ที่แท้แล้ว โรงเรียนคนตาบอด ก็มีบรรญากาศไม่ได้ต่างจากโรงเรียนทั่วไปเลย มีเด็กวิ่งเล่นหยอกล้อกัน ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ไม่ต่างกัน

ขึ้นชื่อว่าเป็นโรงเรียนที่วัยรุ่นผู้ชายและผู้หญิงอยู่ด้วยกันก็ต้องมีเรื่องความรักอยู่แล้ว ดังนั้นการที่วัยรุ่นตาบอดจะรักกันก็ถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งทางโรงเรียนก็ไม่ได้ห้ามแต่อย่างใด หากคู่รักนั้นๆ ไม่กระทำเกินเลยจนเป็นที่เสื่อมเสียต่อสถานศึกษา แต่หากคู่รักนั้นๆ มีเพศสัมพันธ์ หรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อสถานศึกษา ทางโรงเรียนก็จำเป็นต้องให้ออกหรือลงโทษ

ที่ต้องมีกฎแรงขนาดนี้ก็เพราะ โรงเรียนเป็นระบบมูลนิธิ ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ค่อนข้างมาก อีกทั้งโรงเรียนยังเป็นระบบกินนอน หากกฎไม่แข็งพอ ก็จะมีเหตุการณ์อันไม่เหมาะสมตามมาอีกเยอะ

ถึงแม้โรงเรียนคนตาบอดจะอยู่กันคนละภาคหรือคนละจังหวัด แต่นักเรียนและเจ้าหน้าที่ก็มีกิจกรรมร่วมกันอยู่ตลอด ดังนั้นเจ้าหน้าที่และเด็กตาบอดส่วนใหญ่ จึงรู้จักกันและเป็นเพื่อนกันข้ามโรงเรียนเยอะพอสมควร ดังนั้นจึงไม่ต้องห่วงเลยว่า เด็กตาบอดจะมีเพื่อนน้อย เผลอๆ จะเยอะกว่าคนตาดีเสียอีก เพราะมีเพื่อนได้ทั้งตาดี (เพื่อนในโรงเรียนทั่วไปที่เข้าเรียน) และเพื่อนตาบอด (ในโรงเรียนของตัวเอง และโรงเรียนสอนคนตาบอดอื่นๆ)

นอกจากโรงเรียนสอนคนตาบอดจะมีการเรียนการสอนตามระบบการศึกษามาตรฐานแล้ว ในปัจจุบัน ยังมีโรงเรียนคนตาบอดอีกหลายแห่งที่ถูกเปิดขึ้นมาเพื่อเน้นเรื่องอาชีพ เช่นศูนย์ฝึกอาชีพ หรือโรงเรียนอาชีวะสำหรับคนตาบอด

หากเป็นศูนย์ฝึกอาชีพ ก็จะเน้นสอนทักษะอาชีพต่างๆ เช่นนวด ขัดไม้ กีฬา และทักษะเฉพาะอาชีพต่างๆ เมื่อเรียนจบแล้วก็จะได้เป็นใบรับรอง หรือใบประกอบวิชาชีพ

ถ้าเป็นโรงเรียนสายอาชีพ เช่นอาชีวะคนตาบอด ก็จะมีระบบการเรียนการสอนเหมือนกับโรงเรียนอาชีพทั่วไป เช่นมีวุฒิ ปวช. - วุฒิ ปวส. มีสาขาต่างๆ ให้เลือกเรียน เช่นคอมพิวเตอร์ ดนตรี และอื่นๆฯ ตามแต่โรงเรียนนั้นๆ จะเปิดสอน ต่างกันแค่ผู้เรียนมองไม่เห็นเท่านั้นเอง

ส่วนเด็กตาบอดคนไหนไม่อยากเรียนสายอาชีพ เมื่อจบ ม. 6 แล้ว ก็ไปต่อมหาวิทยาลัยแล้วเลือกเข้าสาขาที่ตนเองอยากเรียนได้อย่างอิสระ (ขอแค่สอบได้)

หลายๆ คนที่อ่านมาถึงตรงนี้ ก็คงพอจะทำความเข้าใจในช่วงชีวิตหนึ่งของคนตาบอดกันได้พอสมควรแล้วใช่มั้ยละครับ ว่าอันที่จริง เด็กตาบอดก็ไม่ได้ต่างจากเด็กทั่วไป มีความรู้ มีการศึกษา มีความรัก มีอิสระที่จะเลือกใช้ชีวิตได้พอสมควร ที่เหลือ ก็คงต้องขึ้นอยู่กับ “โอกาส และความสามารถ” ของแต่ละบุคคลกันแล้วล่ะ


ผู้อ่านสามารถสนับสนุนเว็บไซต์ โดยการอุดหนุนนิยายบนเว็บไซต์ เขียนกันดอทคอม เว็บไซต์อ่านนิยายที่คนตาบอดเป็นเจ้าของ และอยากให้สังคมการอ่านเป็นของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าตาดีหรือตาบอด

ให้ดาวบทความนี้: 
No votes yet

แสดงความคิดเห็น